การทำเห็ดโคนเห็ดปลวกไว้กินเอง-เกษตรพอเพียง



วิธีการปลูกเห็ดปลวก
และการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์จากปลวก ตามคำเรียกร้องครับ

วัฏจักรชีวิตของปลวกอีกแง่มุมหนึ่ง ที่สัมพันธ์พึ่งพากับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “เห็ดโคน”
ภายในรังปลวก จะมีสวนเห็ด (fungus garden) ซึ่งเป็นที่ๆปลวกขับถ่ายเนื้อไม้เศษซากเซลลูโลส ซึ่งผ่านกระบวนการเคี้ยวและการย่อยสลายไปเพียงบางส่วนในลำไส้ของปลวก สวนเห็ดจะชุ่มไปด้วยความเปียกชื้นที่สูงมาก มีเส้นใยสีขาวของเห็ดราเจริญเติบโตทั่วไปหมดตามภาพ ที่เห็นนั้นคือ เส้นใยของเชื้อเห็ดราหลายชนิด รวมถึงเชื้อเห็ดโคนด้วย ที่ปลวกนำมาเพาะเลี้ยง ปกติแล้วเชื้อเห็ดราที่เกิดอยู่ภายในสวนเห็ดของปลวกนั้น มีเชื้อเห็ดปะปนกันอยู่หลายชนิด
เช่นเห็ดโคน, เห็ดก้านธูป ฯลฯ ปลวกจะกินตุ่มเห็ด และเส้นใยเห็ดราบนสวนเห็ดนี้เป็นอาหาร ดังนั้นในสภาวะปกติปลวกจำนวนมหาศาลภายในรังจะกินเห็ดราบนสวนเห็ดจนไม่มีโอกาสที่ตุ่มเห็ดจะเจริญเติบโตกลายเป็นไปดอกเห็ดได้ทันเลย
เมื่ออากาศอบอ้าวและร้อนจัด ฝนตกหนักพื้นดินเปียกชุ่มและอ่อนตัว มันเป็นฤดูอพยพย้ายรังของปลวกวรรณะสืบพันธุ์จำนวนมากนับแสนนับล้านตัว กลายร่างเป็นแมลงเม่าโบยบินออกไปจากรังปลวก ประชากรปลวกภายในรังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ปลวกที่เหลือกินเชื้อเห็ดราไม่ทัน ตุ่มเห็ดภายในรังปลวกจึงมีโอกาสเจริญเติบโตงอกทะลุขึ้นมาเหนือพื้นดินที่อ่อนนุ่มนี้ได้ มันช่างเป็นช่วงจังหวะเวลาอันเหมาะสมที่ธรรมชาติจัดให้เพราะพื้นดินอ่อนนุ่มและชื้นแฉะ ซึ่งถ้าดินแห้งแข็งก็ไม่มีทางเลยที่เห็ดโคนจะแทงทะลุขึ้นมาขยายพันธุ์ได้ เมื่อดอกเห็ดโคนบานเหนือพื้นดินมันจะปลดปล่อยสปอร์ขนาดเล็กๆฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ ไกลออกไป ปลิวตกลงบนซากใบไม้ เนื้อไม้ผุๆ แมลงเม่าเจ้าชาย และเจ้าหญิงที่เพิ่งสลัดปีกและจับคู่ผสมพันธุ์กันสร้างอาณาจักรใหม่ที่เกิดบนดินเปียกแฉะ อาณาจักรแรกเริ่มที่มีขนาดเพียงไม่กี่ตารางเซ็นติเมตร มันจะเริ่มออกหาอาหารไปคาบเศษซากใบไม้ ซากเนื้อไม้ซึ่งก็จะมีสปอร์ของเห็ดโคนปะปนติดอยู่ด้วย นำกลับมาสร้างเป็นสวนเห็ดขนาดเล็กๆ เพาะเลี้ยงเห็ด และแพร่พันธุ์เพิ่มประชากรปลวก ขยายอาณาจักรให้ใหญ่โตเป็นจอมปลวก วนเวียนเป็นวัฏจักรไปไม่มีจบสิ้น จำนวนจอมปลวกจึงทวีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่มีศัตรูที่น่ากลัวอย่างมนุษย์ไปรุกรานมัน
ในธรรมชาติมีปลวกอยู่หลายชนิด แต่ผมเคยเห็นปลวกชนิดนี้มีเห็ดโคนเกิดรอบๆ ดอกเห็ดมีขนาดใหญ่ จึงเลือกใช้จาวปลวกจากจอมปลวกชนิดนี้ วิธีขุดใช้เสียบหรือจอบขุดเบาๆ ไม่ต้องลึกมาก จะเจอจาวปลวกอยู่จำนวนมาก เราเก็บมาแค่เล็กน้อยไม่ถึงขั้นต้องทำลายจอมปลวกทั้งหมด
วิธีทำ
จาวปลวกเล็กน้อยประมาณหนึ่งกำมือ ต่อ ข้าวสวย 1 กิโลกรัม เสร็จแล้วก็คลุกเคล้าผสมให้เข้ากัน ก่อนจะเติมน้ำเปล่าลงไปอีก 20 ลิตร ตามหลักวิทยาศาสตร์ ปลวกย่อยเซลลูโลสเองไม่ได้ ต้องอาศัยโปรโตซัว และเชื้อราช่วย เราก็ประยุกต์ขยายเชื้อเหล่านั้นมาช่วยย่อยเศษใบไม้ใบหญ้าให้มันสลายตัวเร็วขึ้นหมักไว้ ๗ วัน จุลินทรีย์โปรโตซัวจะขยายตัวเป็นฝ้าสีขาว

การนำไปใช้
ใช้จุลินทรีย์จาวปลวกเอาใส่น้ำ รดผัก ผลไม้ ให้ผสมน้ำให้ไก่กิน ก็ได้ผลดีคับ บางคนเอาไปรดบนโคนตันไม้ เค๊าบอกเกิดเห็ดโคนขึ้นมา

ใช้อัตราส่วนประมาณ 1 ลิตร /น้ำ 10 ลิตรใช้ฉีดพ่นเพื่อย่อยสลายเศษวัชพืช(หมักทำปุ๋ยหมัก) หรือย่อยสลายตอซังข้าวก่อนทำการไถประมาณ 7 วัน หลังจากนั้นไถกลบ และหากจะนำไปรดโคนต้นเพื่อบำรุงพืชผลอื่นๆก็ได้เช่นกัน ในอัตราส่วนข้างต้น ไม่ตายตัวสามารถปรับได้ตามความเหมาะสมกับการใช้งาน
การเพาะเห็ดโคนจากจุลินทรีย์ปลวก
นำน้ำจุลินทรีย์จาวปลวกนี้ ไปราดที่จอมปลวก คลุมด้วยฟางข้าวหรือใบไม้ รดน้ำพอชื้น ประมาณ ๑๐ วัน ก็จะมีเห็ดโคนขึ้น นำไปประกอบอาหารที่เป็นเห็ดโคนธรรมชาติไร้สารเคมี เป็นเมนูอาหารที่วิเศษมากครับ”

เห็ดโคน หรือ เห็ดปลวก เป็นเห็ดใน genus (สกุล)Termitomyces ยกตัวอย่างเช่น Termitomyces fuliginosus ซึ่งชนิด ( species) นี้จะรสชาติดี และเป็นที่นิยมกินกันมากที่สุด
เห็ดโคนจะมีให้เรากินในช่วงเวลาไหน? ความจริงอยากจะตอบว่า จริงๆ แล้วเห็ดโคนสามารถมีได้ทุกเวลาของปี แต่จะมีเงื่อนไขสำคัญว่า สภาพดินฟ้าอากาศจะต้องเอื้ออำนวยนั่นคืออากาศต้องร้อนอบอ้าวผิดปกติ อย่างที่เรียกกันว่า “ร้อนเห็ด” มีฝนตกลงมาอย่างหนัก และที่สำคัญคือจะต้องมีแมลงเม่า (หรือเขียนผิดๆ ว่าแมงเม่า) จำนวนมากบินออกมาจากรังปลวก การที่แมลงเม่าทิ้งรังทำให้ เห็ดโคนในรังปลวกเหลือเพียงพอที่จะแทงทะลุดินออกมาให้เราได้กินกัน จากเงื่อนไขที่ปลวกทิ้งรังข้างต้นนี้ เราจึงพบว่าเห็ดโคนส่วนใหญ่จะออกในฤดูฝน แต่ในฤดูหนาวเดือนธันวาคมก็ยังพบว่ามีเห็ดโคนบางชนิด เช่นแถวจังหวัดนนทบุรีจะมีเห็ดโคนข้าวตอกซึ่งเป็นเห็ดโคนขนาดเล็กออกมาให้เรากินกัน แต่อย่างไรก็ตามจะมีเห็ดโคนออกมามากในช่วงเทศกาลกินเจคือ เดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน ของทุกปี
การพยายามเพาะเห็ดโคน มีมานานมากแล้ว ย้อนหลังไปไม่ต่ำกว่า 40 ปี สมัยแรกถึงขั้นทะลายรังปลวกมากมาย นำมาศึกษาในห้องทดลอง ด้วยสมมุติฐานต่างๆ รวมทั้งมีบริษัทห้างร้านที่ให้เงินทุนวิจัย ด้วยหวังว่าถ้าสำเร็จก็จะนำมาซึ่งความร่ำรวยอย่างมหาศาล แม้ในปัจจุบันนี้ สมมุติฐานแทบทุกชนิดก็ถูกนำมาทดลองจนหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก๊สในรังปลวก มีผลต่อการกระตุ้นเส้นใยเห็ดหรือไม่ เพราะภายในรังปลวกจะมีแก๊สมีเทนในปริมาณที่เหมาะสมจำนวนหนึ่ง ทดลองถึง อุณหภูมิ ความดัน สารละลายในรังปลวก ฯลฯ ในสมัยปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ถึงขั้นพยายามตัดต่อหน่วยพันธุกรรม( DNA ) ของเห็ดโคน เพื่อจะเพาะเลี้ยงมันขึ้นมาเองให้ได้ จนแล้วจนรอดก็ยังทำไม่สำเร็จ จนบางคนทนไม่ไหวขุดรังปลวก นำมาไว้ข้างบ้าน นำอาหารมาเลี้ยงดูปลวกเช่นใบไม้แห้ง กิ่งไม้แห้งเล็กๆ เพื่อจะได้อาศัยกินเห็ดโคนเล็กๆน้อยๆ ในบางช่วงเวลาก็ยังดี
และในที่สุดทุกวันนี้ พวกเราจะพูดสรุปกันว่า “ถ้าจะเพาะเห็ดโคน ก็ต้องเลี้ยงปลวกด้วย”
ด้วยชื่อเสียงความมีรสชาติอร่อยของเห็ดโคน ภายหลังจึงมีคนสมองใส ได้นำเห็ดชนิดอื่น นำมาตั้งชื่อให้คล้ายเห็ดโคน (แต่ไม่ใช่เห็ดสกุล Termitomyces ) นำออกมาวางขาย ซึ่งมองในแง่ทางเศรษฐกิจก็เป็นสิ่งที่น่ายินดี เพราะเกษตรกรจะได้มีรายได้ ประเทศชาติมีเงินหมุนเวียน/

ที่มา :เกษตรสวนกระแส
https://www.facebook.com/SuanKraSe

GuiKaset

Phasellus facilisis convallis metus, ut imperdiet augue auctor nec. Duis at velit id augue lobortis porta. Sed varius, enim accumsan aliquam tincidunt, tortor urna vulputate quam, eget finibus urna est in augue.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น